celestethailand.com
Celeste Thailand

ป้องกันเชื้อราผิวหนังได้อย่างไร?

เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงรู้จัก “เชื้อราผิวหนัง หรือโรคเชื้อรา” โดยที่คุณอาจเคยพบปัญหานี้ด้วยตนเอง หรือมีคนใกล้ชิดเผชิญปัญหาเหล่านี้ โรคเชื้อราผิวหนังสามารถพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เพราะเชื้อราสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนบนร่างกาย มีทั้งโรคเชื้อราผิวธรรดา และเชื้อราในร่มผ้า โดยอาการที่พบเบื้องต้น คือ เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เป็นผื่น คัน แดง บวม เป็นต้น 

 

สาเหตุที่ทำให้เป็น “เชื้อราผิวหนัง”

สาเหตุที่เกิดเชื้อราผิวหนัง เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย บางคนอาจติดเชื้อราจากสภาพแวดล้อม หรือสิ่งของรอบตัวที่กักเก็บความชื้น เช่น เสื้อผ้า สัตว์เลี้ยง หรืออาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่คอยกระตุ้นให้เกิดเชื้อราได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายภูมิคุ้มกันตก เช่น การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามเชื้อรามักจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงหน้าฝน เพราะเป็นฤดูที่ก่อให้เกิดความอับชื้นได้มากที่สุด ทำให้เกิดแหล่งสะสมของเชื้อรา และแบคทีเรียต่าง ๆ

 

โรคเชื้อราที่พบบ่อย

  • กลาก (Ringworm) 

ลักษณะอาการที่พบ คือ มีอาการผื่นแดงคัน เป็นวงสีแดงและขาว มีขุย หรืออาจมีตุ่มแดงนูน โดยมักจะติดเชื้อรามาจากการสัมผัสสิ่งของรอบตัวที่สั่งสมเชื้อราและแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หมอน เป็นต้น สามารถเกิดขึ้นได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มือ เท้า หน้าอก ขาหนีบ ต้นคอ เป็นต้น

 

  • เกลื้อน (Tinea Versicolor) 

ลักษณะอาการที่พบ คือ มีอาการผื่นแดงและน้ำตาล ผิวหนังบริเวณนั้นจะแห้งจนตกสะเก็ด และมีอาการคันร่วมด้วย โดยมักจะติดเชื้อรามาจากการที่อยู่ในบริเวณอับชื้น ในช่วงที่มีอากาศร้อนมากทำให้เหงื่อออกเยอะ หรือมีปัจจัยอื่น ๆ ที่คอยกระตุ้นให้เกิดเชื้อรา เช่น ร่างกายภูมิคุ้มกันตก ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

 

  • สังคัง (Tinea Cruris)

ลักษณะอาการที่พบ คือ มีอาการผื่นแดงอักเสบและคัน เป็นแผ่นหรือเป็นวง ๆ บริเวณต้นขาด้านในและขาหนีบ โดยมักจะติดเชื้อรามาจากการสัมผัสสิ่งของที่อับชื้น ซึ่งเป็นแหล่งรวมเชื้อราและแบคทีเรียที่เจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น อีกทั้งเชื้อยังสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนโดยผ่านการใช้สิ่งของที่มีเชื้อราร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนู เป็นต้น

 

  • เชื้อราแคนดิดา (Candida)

ลักษณะอาการที่พบ คือ มีอาการผื่นแดงคันคล้ายตุ่มสิว เชื้อราชนิดนี้มักจะขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่อับชื้น และตามรอยพับของร่างกาย โดยส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวาน นอกจากนี้เชื้อราแคนดิดาสามารถเกิดขึ้นได้ตามผื่นผ้าอ้อมในเด็กทารก การติดเชื้อในช่องคลอดเพศหญิง การติดเชื้อบริเวณเล็บและปากได้อีกด้วย

 

วิธีป้องกันโรคเชื้อรา

  • หลังจากอาบน้ำทุกครั้ง ควรใช้ผ้าขนหนูของตนเองเช็ดทำความสะอาดตามร่างกายให้แห้งสะอาด โดยเฉพาะบริเวณซอกข้อพับต่าง ๆ
  • อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังออกกำลังกายเสร็จ เพื่อรักษาความสะอาด ไม่ให้ผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดความอับชื้นจากเหงื่อ
  • ไม่ใช้สิ่งของหรือเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนู ถุงเท้า หวี เสื้อผ้า เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ควรใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อไม่ให้ผิวหนังเกิดการอับชื้น
  • ไม่สัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีอาการคันหรือเกาบ่อย ๆ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการติดโรคเชื้อรา
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รักษาภูมิคุ้มกัน และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เป็นประจำ

 

วิธีรักษาโรคเชื้อรา

โรคเชื้อราสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาชนิดทาภายนอก ยาชนิดใช้เฉพาะที่ หรือยาชนิดรับประทาน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราบนผิวหนัง และเชื้อราในร่มผ้า ซึ่งถ้าหากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง โดยการใช้ยาต้านเชื้อราที่จำหน่ายตามร้านขายยาชั้นนำทั่วไป เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไบโฟนาโซล (Bifonazole) และคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามควรปรึกษาเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อยาเสมอ 

 

เชื้อราผิวหนัง หรือโรคเชื้อรา เป็นปัญหาที่คุณไม่ควรมองข้าม ที่ทั้งสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง สร้างความวิตกกังวลใจ และอาจทำให้ความมั่นใจในร่างกายตนเองลดลงได้ ดังนั้นหากพบว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับโรคเชื้อราผิวหนัง ควรศึกษาหาข้อมูลดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราตามร่างกายอีกครั้ง ด้วยความเป็นห่วงจาก Celeste

Scroll to Top